ท่าเรือแหลมฉบัง
นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในปี 1991 ท่าเรือแหลมฉบัง (LCB) ถือเป็นท่าเรือชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมและการเติบโตทั่วภูมิภาค โดยท่าเรือแหลมฉบังตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 130 กิโลเมตร ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้พัฒนาท่าเรือและบริเวณโดยรอบ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการเปิดให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในการบริหารการปฏิบัติการของท่าเทียบเรือในแต่ละแห่ง
โดยในขณะนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการพัฒนาเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น 2 เฟส และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการพัฒนาเฟสที่ 3
เฟส 1: ปี 1987-1998
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 1987 ด้วยการพัฒนาแอ่งจอดเรือ 1 และในปี 1991 ได้เริ่มเปิดให้ปฏิบัติการอย่างเป็นทางการใน 2 ท่าเทียบเรือแรกคือ ท่าเทียบเรือ B1 และ B3 โดยตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติมอีกจำนวน 9 แห่ง
แอ่งจอดเรือ 1 ประกอบด้วยท่าเทียบเรือจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือสำหรับตู้สินค้าจำนวน 7 ท่า ได้แก่ A2, A3, B1, B2, B3, B4 และ B5 ท่าเทียบเรือโดยสาร A1 ท่าเทียบเรือสำหรับสินค้าทั่วไป A4 และท่าเทียบเรือสำหรับสินค้ายานยนต์ A5 โดยแอ่งจอดเรือ 1 มีความลึก 14 เมตร สามารถรองรับเรือขนาด 6,500 ทีอียู
นอกจากนี้ แอ่งจอดเรือ 1 ยังให้บริการที่หลากหลาย โดยครอบคลุมบริการจัดการยกขนสินค้า คลังสินค้าและการกระจายสินค้า บริการเรือนำร่อง บริการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ และการซ่อมบำรุงรักษาเรือ โดยมีพื้นที่อู่เรือลอยน้ำขนาด 140,000 DWT
ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศไทย ได้ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงได้เร่งการก่อสร้างแอ่งจอดเรือ 2 ในเฟสที่ 2
เฟส 2: ปี 1998-2008
การก่อสร้างเฟสที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในปี 1998 ด้วยการพัฒนาแอ่งจอดเรือ 2 ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อสนับสนุนการเติบโตและการเพิ่มขึ้นของปริมาณตู้สินค้า โดยในระยะนี้ การพัฒนาได้มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศ
โดยแอ่งจอดเรือ 2 มีความลึก 16 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่ได้มีการปฏิบัติการในปัจจุบันได้ ซึ่งแอ่งจอดเรือ 2 ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้าจำนวน 6 ท่า ได้แก่ C1, C2, C3, D1, D2, และ D3 และท่าเทียบเรือสำหรับสินค้าทั่วไป C0 จำนวน 1 ท่า
นอกจากนี้ แอ่งจอดเรือ 2 ได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สถานีตรวจและบรรจุตู้สินค้า (CFS) และการพัฒนาเส้นทางให้เชื่อมต่อกับทางหลวงสายหลักของประเทศเพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศที่อยู่ห่างไกลจากท่าเรือ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ได้ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นที่ดึงดูดมากขึ้น ในฐานะท่าเรือซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับสายการเดินเรือที่ปฏิบัติการในเส้นทางการค้าระหว่าง เอเชีย-อเมริกาเหนือ และเอเชีย-ยุโรป
เฟส 3: ปี 2011-2020
การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเฟสที่ 3 โดยมีเป้าหมายคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเน้นย้ำถึงจุดยืนการเป็นเกตเวย์หลักในภูมิภาค การเป็นศูนย์กลางทางการค้า และส่งเสริมโอกาสในการลงทุนในของไทย
อีกทั้งการท่าเรือฯ ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยได้มีการวางแผนให้การพัฒนาเฟสที่ 3 มีการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดระยะเวลาในการรอเรือและเพิ่มความรวดเร็วของการปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะออกแบบเป็นรูปตัว U มีขนาดความกว้าง 800 ขนาดความยาว 2,000 เมตร ความลึก 18 เมตร ซึ่งสามารถรองรับเรือขนาด Super-Post Panamax พร้อมพื้นที่ระวางสินค้าขนาดมากกว่า 10,000 ทีอียู โดยท่าเรือดังกล่าว สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 8 ล้านทีอียู