การจะเป็นผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? แน่นอนว่าการเป็นผู้นำที่ดีนั้นต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการ เช่น ความเฉลียวฉลาด ความอดทน ความมุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นอกจากนี้ หากเป็นผู้ที่มีแนวคิดแปลกใหม่แตกต่างจากผู้อื่นและสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ก็ยิ่งจะตอกย้ำความโดดเด่น และเยี่ยมยอด ในฐานะผู้นำที่ดีมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
ในฐานะบริษัทผู้ประกอบการท่าเทียบเรือรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จำกัด (HPT) ได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่โดดเด่น ด้วยการลงทุนจัดซื้อเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชุดใหม่ ซึ่งปฏิบัติการด้วยระบบเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีในท่าเรือแหลมฉบังมาก่อน โดยบริษัทฯ ได้ติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวภายในท่าเทียบเรือชุด D เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งในนี้รวมถึงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่ประจำการอยู่ในปัจจุบัน
แม้ปัจจุบัน ท่าเทียบเรือดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่อุปกรณ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของท่าเทียบเรือได้เดินทางมาถึงแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยเครื่องมือยกตู้สินค้าชุดใหม่ ประกอบด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control quay crane หรือ RCQC) จำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control electric rubber tyred gantry crane หรือ RCeRTGC) จำนวนแปดคัน ซึ่งผลิตโดยบริษัท Shanghai Zhenhua Heavy Industry Co., Ltd. (ZPMC) ในเมือง Shanghai ประเทศจีน หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตปั้นจั่นชั้นนำระดับโลก โดยเครื่องมือยกตู้สินค้าอันทันสมัยนี้ จะปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล และถือเป็นครั้งแรกของท่าเทียบเรือตู้สินค้าไทยที่ได้ใช้เครื่องมือดังกล่าว
การลงทุนในท่าเทียบเรือใหม่นี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ HPT ที่ได้ปฏิบัติการในท่าเรือแหลมฉบังมายาวนานกว่าทศวรรษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้แก่องค์กร นอกจากนี้ การลงทุนในท่าเทียบเรือชุด D ยังจะเป็นต้นแบบให้กับท่าเทียบเรืออื่นๆ ในภูมิภาคด้วย นิตยสาร LM ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D และการรับมอบปั้นจั่นยกตู้สินค้าชุดใหม่นี้
Innovative Equipment
สำหรับเครื่องมือยกตู้สินค้าที่ได้รับมอบโดยบริษัท ZPMC ครั้งนี้ ประกอบด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control quay crane หรือ RC QC) จำนวนสามคัน สามารถปฏิบัติงานยกขนตู้สินค้ากับเรือบรรทุกตู้สินค้าบนระวางได้กว้างถึง 24 แถว พร้อมกับความสูงจากสเปรดเดอร์ยกตู้สินค้าถึงพื้น 53 เมตร และสามารถยกน้ำหนักได้สูงถึง 61 เมตริกตัน ซึ่งปั้นจั่นยกตู้สินค้า RC QC เป็นหนึ่งในเครื่องมือยกตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปฏิบัติการด้วยระบบควบคุมระยะไกล HPT จะนำไปปฏิบัติการในท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่าง ท่าเทียบเรือชุด D สำหรับปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control electric rubber tyred gantry crane หรือ RC eRTGC) สามารถยกตู้สินค้าได้สูงหกชั้น สามารถยกน้ำหนักสินค้าได้ 40 เมตริกตัน โดยปั้นจั่น RC eRTGC รุ่นนี้จะมีการใช้งานที่ท่าเทียบเรือของ HPT ในประเทศไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและ HPT เป็นอย่างยิ่ง
การลงทุนจัดซื้อจัดหาเครื่องมือควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกลครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ HPT ในการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังช่วยให้ท่าเทียบเรือชุด D สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ด้วยการปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี
Mr. Ashworth เปิดเผยว่า “เราพยายามที่จะจัดให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมปั้นจั่นทั้งหมดมารวมในพื้นที่เดียวกันและทำงานผ่านหน้าจอและแผงควบคุมที่อยู่ที่ศูนย์บังคับการ โดยที่เจ้าหน้าที่ของเราจะทำหน้าที่ในการควบคุมและติดตามการยกตู้สินค้า ขึ้นและลงจากเรือขนส่งสินค้า รวมถึงการปฏิบัติการภายในลานจัดเก็บตู้สินค้าด้วย พนักงานของเราได้เรียนรู้การปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติจากท่าเทียบเรืออื่นๆ ภายในกลุ่มบริษัทฯ ของเราที่ปฏิบัติการด้วยระบบนี้มาก่อน โดยเราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมและเรียนรู้การปฏิบัติการจากท่าเทียบเรือเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อท่าเทียบเรือชุด D เฟสแรกเปิดให้บริการ เราก็พร้อมที่จะเริ่มการปฏิบัติการได้ทันที และเมื่อท่าเทียบเรือชุด D ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่าเทียบเรือแห่งนี้ก็จะกลายเป็นท่าเทียบเรือสำคัญอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่เราจะใช้ในการจัดฝึกอบรมการปฏิบัติการด้วยระบบ ควบคุมระยะไกลให้แก่พนักงานของเราจากทั่วโลกด้วย”
Mr. Ashworth กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราวางแผนให้ท่าเทียบเรือชุด D สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย เนื่องจากปัจจุบัน เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ต้องใช้เวลารอนานก่อนที่จะสามารถเข้าเทียบที่ท่าเทียบเรือในไทยได้ แต่ทางเราได้วางแผนรับมือในครั้งนี้ ด้วยการลงทุนจัดซื้อปั้นจั่นยกตู้สินค้าชุดใหม่ในท่าเทียบเรือชุด D เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากเราจะลงทุนจัดหาเครื่องมือชุดใหม่แล้ว เรายังได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลภายในท่าเทียบเรือชุด D อีกด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ท่าเทียบเรืออื่นๆ ในต่างประเทศก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปใช้ปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่นานเราจะได้เห็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าหลักปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้การปฏิบัติงานอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย”
การใช้งานเครื่องมือชุดใหม่นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายธุรกิจของ HPT ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันบริษัทฯ ได้ให้บริการท่าเทียบเรือ A2, A3 และท่า C1C2 ภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่ HPT รองรับได้เริ่มที่จะเข้าใกล้ขีดความสามารถการรองรับสูงสุดแล้ว ซึ่งการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชุด D เพิ่มเติม จะช่วยให้ HPT สามารถรองรับความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ อีกทั้งท่าเทียบเรือใหม่ยังจะช่วยให้ HPT สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึงหกล้านทีอียู ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า HPT อยู่ในฐานะท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เมื่อโครงการท่าเทียบเรือชุด D เสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือฯ จะถือเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของภาครัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่คาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดีในอนาคต ดังนั้น จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทาง HPT กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด D
“การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D เฟส 1A ประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึกขนาดความยาวหน้าท่า 400 เมตร โดยมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าขนาด Super post-panamax จำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง อีก 10 คัน โดยคาดว่าจะมีกำหนดเปิดให้บริการประมาณช่วงกลางปี 2018” Mr. Ashworth กล่าว “นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2019 ส่วนต่อขยายในเฟส 1B ก็จะก่อสร้างแล้วเสร็จเช่นเดียวกัน เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือทั้งสองส่วนจะมีความยาวหน้าท่ารวม 1,000 เมตร โดยจะมีการติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าทั้งหมดหกคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง รวมทั้งสิ้น 20 คัน โดยเราได้ออกแบบท่าเทียบเรือใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนให้แก่ลูกค้าสายการเดินเรือที่ให้บริการในเส้นทางอเมริกาเหนือและยุโรป อย่างไรก็ตาม ท่าเทียบเรือของเรายังสามารถให้บริการแก่เรือลำเลียงสินค้าที่ให้บริการในเส้นทาง Intra-Asia ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือของเราพร้อมให้บริการลูกค้าด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้เราสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในอนาคต เมื่อมีการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชุด D แล้ว Mr. Ashworth เล็งเห็นว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นเกตเวย์สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ท่าเทียบเรือชุด D จะเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติ โดยการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทของ HPT ที่มีต่อประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในการผลักดันให้ HPT เป็นหนึ่งในต้นแบบของท่าเรือทั่วโลก นอกจากนี้ เรายังได้มีการวางแผนลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโอกาสของเราและลูกค้าในประเทศไทย”
“การที่ Hutchison Ports Thailand (HPT) ได้ลงทุนจัดซื้อและนำปั้นจั่นยกขนตู้สินค้าชุดใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในปั้นจั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมติดตั้งด้วยระบบควบคุมระยะไกลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติการน่าจะช่วยให้การทำงานภายในท่าเทียบเรือชุด D มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อท่าเทียบเรือชุด D ในท่าเรือแหลมฉบังเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะทำให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ผ่านการปฏิบัติงานด้วยระบบการทำงานอันทันสมัยของปั้นจั่นยกตู้สินค้านี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าท่าเทียบเรือฯ จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเร่งผลักดัน และยังจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและโลจิสติกส์ของอาเซียนด้วย” ร้อยตำรวจเอก ธนาบดี ธูปเทียนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าว
RELATED STORIES
เมื่อวันที่ 18 …
เมื่อวันที่ 28 …
วันที่ 28 มิถุน…
เมื่อวันที่ 18 …
เมื่อวันที่ 28 …
วันที่ 28 มิถุน…