ONLINE SERVICES
TRACK YOUR CONTAINER »

การจะเป็นผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? แน่นอนว่าการเป็นผู้นำที่ดีนั้นต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการ เช่น ความเฉลียวฉลาด ความอดทน ความมุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นอกจากนี้ หากเป็นผู้ที่มีแนวคิดแปลกใหม่แตกต่างจากผู้อื่นและสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ก็ยิ่งจะตอกย้ำความโดดเด่น และเยี่ยมยอด ในฐานะผู้นำที่ดีมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ในฐานะบริษัทผู้ประกอบการท่าเทียบเรือรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จำกัด (HPT) ได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่โดดเด่น ด้วยการลงทุนจัดซื้อเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชุดใหม่ ซึ่งปฏิบัติการด้วยระบบเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีในท่าเรือแหลมฉบังมาก่อน โดยบริษัทฯ ได้ติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวภายในท่าเทียบเรือชุด D เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งในนี้รวมถึงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่ประจำการอยู่ในปัจจุบัน แม้ปัจจุบัน ท่าเทียบเรือดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่อุปกรณ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของท่าเทียบเรือได้เดินทางมาถึงแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยเครื่องมือยกตู้สินค้าชุดใหม่ ประกอบด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control quay crane หรือ RCQC) จำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control electric rubber tyred gantry crane หรือ RCeRTGC) จำนวนแปดคัน ซึ่งผลิตโดยบริษัท Shanghai Zhenhua Heavy Industry Co., Ltd. (ZPMC) ในเมือง Shanghai ประเทศจีน หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตปั้นจั่นชั้นนำระดับโลก โดยเครื่องมือยกตู้สินค้าอันทันสมัยนี้ จะปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล และถือเป็นครั้งแรกของท่าเทียบเรือตู้สินค้าไทยที่ได้ใช้เครื่องมือดังกล่าว การลงทุนในท่าเทียบเรือใหม่นี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ HPT ที่ได้ปฏิบัติการในท่าเรือแหลมฉบังมายาวนานกว่าทศวรรษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้แก่องค์กร นอกจากนี้ การลงทุนในท่าเทียบเรือชุด D ยังจะเป็นต้นแบบให้กับท่าเทียบเรืออื่นๆ ในภูมิภาคด้วย นิตยสาร LM ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D และการรับมอบปั้นจั่นยกตู้สินค้าชุดใหม่นี้ Innovative Equipment สำหรับเครื่องมือยกตู้สินค้าที่ได้รับมอบโดยบริษัท ZPMC ครั้งนี้ ประกอบด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control quay crane หรือ RC QC) จำนวนสามคัน สามารถปฏิบัติงานยกขนตู้สินค้ากับเรือบรรทุกตู้สินค้าบนระวางได้กว้างถึง 24 แถว พร้อมกับความสูงจากสเปรดเดอร์ยกตู้สินค้าถึงพื้น 53 เมตร และสามารถยกน้ำหนักได้สูงถึง 61 เมตริกตัน ซึ่งปั้นจั่นยกตู้สินค้า RC QC เป็นหนึ่งในเครื่องมือยกตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปฏิบัติการด้วยระบบควบคุมระยะไกล HPT จะนำไปปฏิบัติการในท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่าง ท่าเทียบเรือชุด D สำหรับปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control electric rubber tyred gantry crane หรือ RC eRTGC) สามารถยกตู้สินค้าได้สูงหกชั้น สามารถยกน้ำหนักสินค้าได้ 40 เมตริกตัน โดยปั้นจั่น RC eRTGC รุ่นนี้จะมีการใช้งานที่ท่าเทียบเรือของ HPT ในประเทศไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและ HPT เป็นอย่างยิ่ง
Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การลงทุนจัดซื้อจัดหาเครื่องมือควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกลครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ HPT ในการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังช่วยให้ท่าเทียบเรือชุด D สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ด้วยการปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี Mr. Ashworth เปิดเผยว่า “เราพยายามที่จะจัดให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมปั้นจั่นทั้งหมดมารวมในพื้นที่เดียวกันและทำงานผ่านหน้าจอและแผงควบคุมที่อยู่ที่ศูนย์บังคับการ โดยที่เจ้าหน้าที่ของเราจะทำหน้าที่ในการควบคุมและติดตามการยกตู้สินค้า ขึ้นและลงจากเรือขนส่งสินค้า รวมถึงการปฏิบัติการภายในลานจัดเก็บตู้สินค้าด้วย พนักงานของเราได้เรียนรู้การปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติจากท่าเทียบเรืออื่นๆ ภายในกลุ่มบริษัทฯ ของเราที่ปฏิบัติการด้วยระบบนี้มาก่อน โดยเราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมและเรียนรู้การปฏิบัติการจากท่าเทียบเรือเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อท่าเทียบเรือชุด D เฟสแรกเปิดให้บริการ เราก็พร้อมที่จะเริ่มการปฏิบัติการได้ทันที และเมื่อท่าเทียบเรือชุด D ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่าเทียบเรือแห่งนี้ก็จะกลายเป็นท่าเทียบเรือสำคัญอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่เราจะใช้ในการจัดฝึกอบรมการปฏิบัติการด้วยระบบ ควบคุมระยะไกลให้แก่พนักงานของเราจากทั่วโลกด้วย” Mr. Ashworth กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราวางแผนให้ท่าเทียบเรือชุด D สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย เนื่องจากปัจจุบัน เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ต้องใช้เวลารอนานก่อนที่จะสามารถเข้าเทียบที่ท่าเทียบเรือในไทยได้ แต่ทางเราได้วางแผนรับมือในครั้งนี้ ด้วยการลงทุนจัดซื้อปั้นจั่นยกตู้สินค้าชุดใหม่ในท่าเทียบเรือชุด D เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากเราจะลงทุนจัดหาเครื่องมือชุดใหม่แล้ว เรายังได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลภายในท่าเทียบเรือชุด D อีกด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ท่าเทียบเรืออื่นๆ ในต่างประเทศก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปใช้ปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่นานเราจะได้เห็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าหลักปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้การปฏิบัติงานอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย” การใช้งานเครื่องมือชุดใหม่นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายธุรกิจของ HPT ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันบริษัทฯ ได้ให้บริการท่าเทียบเรือ A2, A3 และท่า C1C2 ภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่ HPT รองรับได้เริ่มที่จะเข้าใกล้ขีดความสามารถการรองรับสูงสุดแล้ว ซึ่งการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชุด D เพิ่มเติม จะช่วยให้ HPT สามารถรองรับความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ อีกทั้งท่าเทียบเรือใหม่ยังจะช่วยให้ HPT สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึงหกล้านทีอียู ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า HPT อยู่ในฐานะท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อโครงการท่าเทียบเรือชุด D เสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือฯ จะถือเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของภาครัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่คาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดีในอนาคต ดังนั้น จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทาง HPT กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด D
ร้อยตำรวจเอก ธนาบดี ธูปเทียนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ ท่าเรือแหลมฉบัง
“การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D เฟส 1A ประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึกขนาดความยาวหน้าท่า 400 เมตร โดยมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าขนาด Super post-panamax จำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง อีก 10 คัน โดยคาดว่าจะมีกำหนดเปิดให้บริการประมาณช่วงกลางปี 2018” Mr. Ashworth กล่าว “นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2019 ส่วนต่อขยายในเฟส 1B ก็จะก่อสร้างแล้วเสร็จเช่นเดียวกัน เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือทั้งสองส่วนจะมีความยาวหน้าท่ารวม 1,000 เมตร โดยจะมีการติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าทั้งหมดหกคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง รวมทั้งสิ้น 20 คัน โดยเราได้ออกแบบท่าเทียบเรือใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนให้แก่ลูกค้าสายการเดินเรือที่ให้บริการในเส้นทางอเมริกาเหนือและยุโรป อย่างไรก็ตาม ท่าเทียบเรือของเรายังสามารถให้บริการแก่เรือลำเลียงสินค้าที่ให้บริการในเส้นทาง Intra-Asia ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือของเราพร้อมให้บริการลูกค้าด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้เราสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ในอนาคต เมื่อมีการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชุด D แล้ว Mr. Ashworth เล็งเห็นว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นเกตเวย์สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ท่าเทียบเรือชุด D จะเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติ โดยการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทของ HPT ที่มีต่อประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในการผลักดันให้ HPT เป็นหนึ่งในต้นแบบของท่าเรือทั่วโลก นอกจากนี้ เรายังได้มีการวางแผนลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโอกาสของเราและลูกค้าในประเทศไทย” “การที่ Hutchison Ports Thailand (HPT) ได้ลงทุนจัดซื้อและนำปั้นจั่นยกขนตู้สินค้าชุดใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในปั้นจั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมติดตั้งด้วยระบบควบคุมระยะไกลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติการน่าจะช่วยให้การทำงานภายในท่าเทียบเรือชุด D มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อท่าเทียบเรือชุด D ในท่าเรือแหลมฉบังเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะทำให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ผ่านการปฏิบัติงานด้วยระบบการทำงานอันทันสมัยของปั้นจั่นยกตู้สินค้านี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าท่าเทียบเรือฯ จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเร่งผลักดัน และยังจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและโลจิสติกส์ของอาเซียนด้วย” ร้อยตำรวจเอก ธนาบดี ธูปเทียนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าว