ONLINE SERVICES
TRACK YOUR CONTAINER »

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 2018 บริษัท HUTCHISON PORTS THAILAND (HPT) หรือ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับมอบปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวนแปดคัน ซึ่งผลิตโดยบริษัท SHANGHAI ZHENHUA HEAVY INDUSTRY (ZPMC) ในเมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน

ทั้งนี้ เครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล ทำให้ HPT เป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีนี้ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control quay crane หรือ RCQC) จำนวนสามคัน ที่สามารถปฏิบัติงานบนเรือที่มีระวางบรรทุกตู้ได้ถึง 24 แถว และสามารถยกน้ำหนักได้สูงถึง 61 เมตริกตัน สำหรับปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (remote control electric rubber tyred gantry crane หรือ RCeRTGC) สามารถยกตู้สินค้าได้สูงหกชั้น สามารถยกสินค้าหนักได้ถึง 40 เมตริกตัน ปั้นจั่น RCeRTG รุ่นนี้มีการใช้งานที่ท่าเทียบเรือของ HPT ในประเทศไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและ HPT เป็นอย่างยิ่ง การลงทุนจัดหาเครื่องมือควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกลครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานโดยเน้นความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังช่วยให้ท่าเทียบเรือ D สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการในท่าเรือได้มากกว่าเดิม โดยการปฏิบัติการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือจะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ปฏิบัติการที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำการดูแลจากหอบังคับการสำหรับควบคุมเครื่องมือระยะไกล เครื่องมือชุดใหม่นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายธุรกิจของ HPT ภายหลังจากที่เครื่องมือชุดใหม่ทำการติดตั้งที่ท่าเทียบเรือ D ในท่าเรือแหลมฉบังเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือแห่งนี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development Project) ของรัฐบาลไทยต่อไป HPT ยังเป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A2, A3, และท่า C1-C2 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบัน ปริมาณตู้สินค้าที่ทางบริษัทฯ รองรับได้ใกล้เต็มขีดความสามารถแล้ว ปริมาณการรองรับจำนวนตู้ท่าเทียบเรือชุด D จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถรองรับการเติบโตตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการ HPT จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึงหกล้านทีอียู ตอกย้ำการเป็นท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อโครงการท่าเทียบเรือชุด D เสร็จสมบูรณ์ จะมีความยาวหน้าท่าทั้งหมด 1,700 เมตร และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าทั้งหมด 17 คัน โดยจะเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ปฏิบัติการยกขนสินค้าด้วยระบบควบคุมจากระยะไกล การลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ของ HPT สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทของกลุ่มบริษัท Hutchison Ports ที่มีต่อประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในการผลักดันให้ HPT เป็นหนึ่งในต้นแบบของท่าเรือทั่วโลก Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ท่าเทียบเรือชุด D จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ และความสามารถนี้จะช่วยสร้างความแตกต่างให้เราเมื่อเทียบกับท่าเทียบเรือรายอื่น เราออกแบบท่าเทียบเรือ D โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าที่ต้องการนำเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่ายังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันและเป็นการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการออกแบบท่าเทียบเรือ D มีจุดประสงค์เพื่อรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่แต่ท่าเทียบเรือของเราก็ยังคงให้บริการแก่เรือลำเลียงสินค้าระหว่างประเทศและเรือในเส้นทาง Intra-Asia ด้วย บริษัทฯ ยินดีต้อนรับทุกความต้องการของผู้ใช้บริการ ด้วยพื้นที่ปฏิบัติการในท่าเรือแหลมฉบังที่เรามี ทำให้เราสามารถให้บริการได้อย่างยืดหยุ่น และการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชุด D แห่งนี้ ก็ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสและทำให้เราสามารถให้บริการได้ยืดหยุ่นมากขึ้น เราหวังว่าท่าเทียบเรือ D จะเป็นกุญแจสำคัญที่เสริมสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเราและลูกค้า ตลอดจนท่าเรือแหลมฉบังด้วย เพราะ HPT เรามุ่งมั่นพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย”