จดหมายเปิดผนึก จาก Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย
2020 นับเป็นปีที่นำพาความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้คนทั่วโลก กระนั้นแล้ว ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจ และความกังวลถึงสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ Hutchison Ports Thailand (HPT) ยังคงประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามอุปสรรคสู่เป้าหมายอันเป็นหลักชัยสำคัญหลายประการ
What happened to container handling volumes?
นับตั้งแต่ที่มีการตรวจพบเชื้อ COVID-19 สาธารณรัฐประชาชนจีนก็กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้รับผลกระทบด้านการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่สู่ซัพพลายเชนและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ในการนี้ หากเราแบ่งปี 2020 ออกเป็นสามช่วง สี่เดือนแรกระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนนั้น ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเทียบเรือ HPT ค่อนข้างคงที่ โดยยอดการปฏิบัติการตู้สินค้าของเรามีการเติบโตขึ้นเล็กน้อย ถือได้ว่าในช่วงต้นปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่สร้างความชะล่าใจให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้น จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกระแสการค้าทั่วโลก
อย่างไรก็ดี หากเราพินิจพิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด ก็พอจะเห็นเค้าลางที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอันเป็นผลกระทบจากโรคระบาดได้ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมนั้น ปริมาณตู้สินค้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการบริโภคสินค้าทั่วโลกเกิดการหยุดชะงัก สายการเดินเรือต่างๆ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องงดให้บริการในบางเที่ยวเรือ หรือรวบรวมปริมาณสินค้าจากหลายๆ เที่ยวเรือเข้าด้วยกัน
จากข้อมูลของสายการเดินเรือที่เป็นลูกค้าของเราบางราย สินค้าจำเป็นยังมีการขนส่งอยู่ พร้อมกันนั้น ปริมาณการขนส่งสินค้าตกแต่งบ้านไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อันเป็นผลจากการที่ผู้คนจำนวนมากต้องกักตัวภายในที่พักอาศัย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ปริมาณการใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้น ก็กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในกระแสการขนส่งสินค้าในช่วงที่สองนี้
จากนั้น ในเดือนกันยายน ยอดการปฏิบัติการตู้สินค้าของเราก็ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากตลาดการค้าสำคัญของโลกกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง และคาดว่ากระแสดังกล่าวนี้จะยังคงดำเนินต่อไปตลอดจนถึงสิ้นปี
What was our reaction to the crisis?
ในขั้นต้น เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาดได้ เราก็จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการป้องกัน COVID-19 ขึ้นทันที โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงผู้ใช้บริการที่มาจากภายนอก โดยเราได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในสถานที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รักษาสุขอนามัย และแนวทางการตรวจสอบอุณหภูมิร่างกาย ข้อปฏิบัติดังกล่าว ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรักษาปฏิบัติการท่าเทียบเรือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าจำเป็น
เราให้ความใส่ใจและความสำคัญต่อมาตรการดังกล่าวเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องเพื่อนร่วมงาน ณ ‘ด่านหน้า’ ของเรา ผู้จำเป็นต้องสัมผัสกับลูกเรือและผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือในทุกๆ วัน
การตัดสินใจครั้งสำคัญประการที่สองของเราก็คือ ถึงแม้ว่าบริษัทของเราต้องเผชิญกับแรงกดดันทางด้านการเงิน เราก็หาได้มีแนวคิดในการลดจำนวนพนักงาน เพราะพื้นฐานโดยธรรมชาติของธุรกิจของเรานั้น ต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงมิได้อยู่แล้ว และจากประสบการณ์ของเรา หากท่าเทียบเรือขาดแรงงานในช่วงเวลาที่ปริมาณตู้สินค้าดีดตัวกลับมา การปฏิบัติงานก็จะได้รับผลกระทบ และก่อให้เกิดความหนาแน่นและการติดขัดในท่าเรือ
แน่นอนว่า มีการตัดสินใจที่จะลดทอนการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น กระนั้นแล้ว เราก็ยังคงเดินหน้าลงทุนกับโครงการสำคัญต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาท่าเทียบเรือชุด ดี ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนก่อสร้างส่วนต่อขยาย พร้อมกันนั้น เรายังได้ตัดสินใจเร่งดำเนินแผนการพัฒนาประสิทธิภาพเทคโนโลยีในท่าเทียบเรือ เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่ความต่อเนื่องทางธุรกิจในภายภาคหน้า
แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มาในรูปของโรคระบาดครั้งใหญ่ ทว่า ภายใต้การวางรากฐานท่าเทียบเรือที่ปลอดภัย มั่นคง และมีประสิทธิภาพ เราได้ผลักดันองค์กรสู่หลักชัยสำคัญในปี 2020 โดยในเดือนเมษายน เรารับรถบรรทุกสินค้าอัตโนมัติจำนวนหกคันมาเพื่อทดสอบการทำงาน ซึ่งเป็นรถบรรทุกอัตโนมัติที่ปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ล้ำสมัยที่สุด อีกทั้งยังปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
หากว่าการทดสอบผนวกเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ากับระบบปฏิบัติการของท่าเทียบเรือของเราประสบผลสำเร็จ เราก็จะพิจารณาสั่งซื้อรถบรรทุกสินค้าอัตโนมัติมายังท่าเทียบเรือชุด ดี เพื่อปฏิบัติการจริง
พร้อมกันนั้น ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2020 เรายังมีโอกาสได้ต้อนรับเรือ MSC MINA สู่ท่าเทียบเรือชุด ดี และด้วยความยาวตลอดลำเรือ 399 เมตร พร้อมขนาดระวางสินค้า 23,656 ทีอียู จึงนับได้ว่าเป็นเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเข้าสู่น่านน้ำของประเทศไทยลำหนึ่ง และในวันที่ 9 ธันวาคม 2020 เราก็ได้เฉลิมฉลองสถิติการปฏิบัติการตู้สินค้าครบ 30 ล้านทีอียู นับตั้งแต่เปิดให้บริการ ณ ท่าเรือแหลมฉบังในปี 2002 ซึ่งนับเป็นหลักชัยที่สำคัญต่อทั้ง HPT และ Hutchison Ports Group
Looking forward to 2021
แม้จะมีเสียงเป็นเอกฉันท์แล้วว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2021 ทว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็จะมีปริมาณที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต หากเราจะคาดเดาการเติบโตของปริมาณตู้สินค้าในทิศทางเดียวกันแล้ว ภายใต้การคาดคะเนสถานการณ์ที่ดีที่สุด ยอดปฏิบัติการตู้สินค้าก็จะฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ก่อนที่จะทะยานขึ้นอีกครั้ง ในทางตรงกันข้าม ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ยอดปฏิบัติการตู้สินค้าก็จะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวที่เชื่องช้าและยาวนาน กว่าจะถึงจุดที่พลิกฟื้นขึ้นมาได้
ขณะที่เรายังจับตาดูสถานการณ์ปี 2021 และปีต่อๆ ไปด้วยทัศนคติคิดบวก จากการประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ เราก็ยังคงเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดด้วยเช่นกัน อาทิ กรณีที่อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่สองในประเทศไทย
และขณะที่ผมกำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ เราก็ได้เห็นอัตราการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นในชุมชน ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐประกาศมาตรการป้องกัน ซึ่งสร้างข้อจำกัดในชีวิตประจำวันของพวกเราอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังคงต้องเฝ้าระวัง และสร้างความมั่นใจว่าเราได้เตรียมมาตรการที่จำเป็น เพื่อรักษาสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน พร้อมกับรักษาความพร้อมในการปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และมอบบริการให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือต่อไป แม้ว่าจะเกิดการล็อคดาวน์ขึ้นอีกครั้งก็ตาม
กระนั้นแล้ว เราก็จะยังคงเดินหน้าตามแผนการลงทุนเพื่อขยายประสิทธิภาพการปฏิบัติการตู้สินค้า และติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ณ ท่าเทียบเรือของเราต่อไป โดยในท่าเทียบเรือชุด ดี เราได้วางแผนที่จะเริ่มการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่เหลือทั้งหมดของลานวางตู้สินค้า และสั่งซื้อเครนยกสินค้าหน้าท่าขนาด Super-Post-Panamax และเครน RTG เพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดจะปฏิบัติงานด้วยพลังงานไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกล
ทั้งนี้ เราจะผลักดันโครงการทดสอบรถบรรทุกสินค้าอัตโนมัติในท่าเทียบเรือ ชุด ดี พร้อมกับเดินหน้าแผนการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนบริการเช่น การออกใบปล่อยสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e- Delivery Order) ประตูเข้า-ออกระบบอัตโนมัติสำหรับรถบรรทุกสินค้า รวมทั้งซัพพลายเชนในรูปแพลตฟอร์มดิจิทัล
Hutchison Ports ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเป้าหมายที่สำคัญสำหรับ HPT ในปี 2021 ก็คือ ลดรอยเท้าคาร์บอนในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และพัฒนาโครงการเพื่อกระชับสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ เราตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ไม่เพียงแต่ท่าเทียบเรือชุด ดี จะเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก หากแต่ยังเป็นท่าเทียบเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผมขอถือโอกาสอวยพรให้พนักงาน HPT ทุกท่าน รวมทั้งผู้ติดตามของเรา เริ่มต้นปี 2021 ด้วยใจที่เปี่ยมสุข พร้อมสุขภาพกายที่แข็งแรง โปรดติดตามข้อมูลข่าวสารล่าสุดของบริษัทฯ จากทั้งตัวผมและทีมประชาสัมพันธ์ของ HPT ต่อไปครับ
วันที่ 9 ธันวาคม 2563 Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการของ กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) และพนักงาน ได้ร่วมกันฉลองการให้บริการตู้สินค้าผ่านท่า ครบ 30 ล้านทีอียู นับตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2002 Mr. Ashworth ได้กล่าว ขอบคุณลูกค้า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้ใช้บริการท่าเรือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดัน ให้บริษัทฯ ก้าวสู้ความสำเร็จในครั้งนี้